10 ข้อควรรู้ “โซล่าร์เซลล์หลังคาบ้าน”

0
1238

เนื่องจากในช่วงนี้พลังงานแสงอาทิตย์ จากโซล่าร์เซลล์กำลังมาแรง โดยเฉพาะ Solar Roof Top หรือ โซล่าร์เซลล์บนหลังคาบ้าน แต่หลายๆ คนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์ ดังนั้นในฐานะที่ผมอยู่ในวงการนี้ และรู้เรื่องเหล่านี้บ้าง จึงอยากจะเรียบเรียง และถ่ายทอดออกมาให้ครบที่สุดครับ มี 10 ข้อที่ประชาชนควรรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับ “โซล่าร์เซลล์หลังคาบ้าน” เนื้อหายาวจึงขอแบ่งเป็น 1 โพสกับ 9 คอมเมนต์นะครับ
บทความต่อไปทางผมเขียนมาจากประสบการณ์โดยตรง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน ส่วนไหนดีก็บอกว่าดี ไม่ดีก็จะไม่กั๊ก ถ้ามีคำแนะนำใดๆ เพิ่มเติม ยินดีแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นทุกท่าน คอมเมนต์มาได้เลยครับ

1. ติดแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง ?
การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้น มีมานานหลายปีแล้ว แต่ที่เริ่มแพร่หลายจริงๆ จังๆ ก็ไม่เกิน 5-7 ปี โดยเติบโตขึ้นมากกว่า 320% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เทรนดังกล่าวชี้วัดได้ว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ติดเพื่อคุยโม้โอ้อวด แต่ติดเพื่อประโยชน์จริงๆ วัดจากประสบการณ์การติดตั้งใน 5 ปีที่ผ่านมา ผมขอสรุปประโยชน์ของการติดแผงโซล่าร์เซลล์ดังนี้ครับ

ติดตั้งเพื่อขายไฟให้การไฟฟ้า

คือการแปลงสภาพหลังคาบ้านอันว่างเปล่าของเรา ไปเป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก และขายคืนให้กับการไฟฟ้าเลย ย้ำนะครับว่า “ไม่เกี่ยวกับการใช้ไฟในบ้านเราเลย” หลายคนสงสัยว่า แล้วการไฟฟ้าจะรับคืนไฟฟ้าได้อย่างไร คำตอบคือ “รับไฟมาทางไหน ก็จ่ายไฟคืนไปทางนั้น” แหล่ะครับ แหะๆ พูดง่ายๆ คือ กระแสไฟฟ้ามันไหลได้สองทางนั่นเอง ครับผม แต่อย่างไรก็ตาม การไฟฟ้าจะไม่อนุญาติให้จ่ายไฟย้อนมิเตอร์เดิมของบ้าน (ถึงทำได้ก็ผิดกฎหมาย เข้าใจตรงกันนะครับ ^^) ดังนั้น เมื่อติดแผงโซล่าร์เซลล์แล้ว จะต้องมี “มิเตอร์ขายไฟ” เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตัว ครับ เพื่อรับไฟจากบ้านเราคืนกลับไปยังการไฟฟ้า สรุปบ้านเราจะมีทั้ง “มิเตอร์ขายไฟ” และ “มิเตอร์ซื้อไฟ”(มิเตอร์เดิม) เรียกได้ว่า “ซื้อส่วนซื้อ ขายส่วนขาย” มิเตอร์ขายไฟหน้าตาประมาณด้านล่างนี้ครับ

รูปที่ 1 มิเตอร์ขายไฟ โซล่ารูฟท็อป

การขายไฟให้การไฟฟ้า โดยการติดแผงโซล่าร์ นั้น มีสองหน่วยงานที่รับซื้อ คือ
(1) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สำหรับคนอยู่ต่างจังหวัด และ
(2) การไฟฟ้านครหลวง (MEA) สำหรับในกรุงเทพและปริมณฑล

รูปที่ 2 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครหลวง

สาเหตุที่การไฟฟ้ารับซื้อไฟจากประชาชน เพื่อลดภาระในการผลิตกระแสไฟฟ้า แทนที่จะไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นมาจะดีกว่าครับ เรียกได้ว่า “ร่วมด้วยช่วยกัน” เพื่อให้ประเทศเรามีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียง
ทีนี้มาดูกันว่า เงื่อนไข ที่แต่ละบ้านจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นของตัวเอง มี 4 ข้อคือ

  • การไฟฟ้ายอมให้ผลิตได้ไม่เกิน 10kW ต่อหลังคาเรือน และมีโควต้าต่อชุมชนด้วย ซึ่งต้องปรึกษาการไฟฟ้าที่รับผิดชอบในชุมชนของท่าน
  • มิเตอร์ไฟฟ้าต้องเป็น ประเภทที่ 1 (เพื่ออยู่อาศัย) เท่านั้น วิธีการสังเกตว่า บ้านเราเป็นมิเตอร์ประเภทที่ 1 หรือไม่ ให้ดูจากบิลค่าไฟ ที่เราได้รับทุกเดือน ดังรูปครับ
  • จะต้องมีหลังคาบ้าน หรือโครงหลังคาบ้านที่พร้อมให้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์
  • จะต้องขออนุญาติกับการไฟฟ้าใกล้บ้านท่าน ภายใน มิถุนายน 2558 และจะต้องเริ่มขายไฟเข้าระบบ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

รูปที่ 3 บิลค่าไฟประเภทที่ 1

ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อขายไฟ เป็นทางเลือกที่ “เกิดให้ประโยชน์ทางการเงินสูงสุด” เพราะการไฟฟ้ารับซื้อไฟในอัตราที่แพงกว่า ค่าไฟปกติที่เราจ่ายกันยังไงล่ะครับ พูดง่ายๆ ก็คือ การไฟฟ้าขายไฟให้เราที่หน่วยละ 3-4 บาท (update พ.ค.2558) แต่การไฟฟ้ารับซื้อไฟจากเราในอัตราหน่วยละ 6.85 บาท ดังนั้นเราจึงไม่ควรติดตั้งแผงโซล่าร์เพื่อใช้ไฟในบ้านแต่เพียงอย่างเดียว ถ้ามีโอกาสขายได้ เน้นขายเถอะครับ คุ้มกว่ากันเยอะ ประเทศไทยเคยมีโครงการรับซื้อไฟจากประชาชนมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกการไฟฟ้าให้ที่ราคา 6.96 บาท ส่วนครั้งล่าสุดให้ราคาที่ 6.85 บาท แนวโน้มดูจะลดลงนะครับ สรุปการลงทุนเพื่อขายไฟ โดยการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคา แล้วจ่ายไฟให้กับการไฟฟ้าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสุด เพราะไม่ต้องมีแบตเตอรี่ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการใช้ไฟในบ้าน ทำให้เกิดการคืนทุนเร็วสุด ได้ผลตอบแทนคงที่ประมาณ 20% ตลอดระยะเวลาสัญญา 25 ปี จะรออะไรอีกล่ะครับ ^^

ติดตั้งเพื่อใช้เอง

การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์อีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาติการไฟฟ้า ซึ่งหลักการคล้ายกับการติดตั้งเพื่อขายไฟเลย เพียงแต่กระแสไฟฟ้าที่ได้ จะนำมาใช้ภายในบ้าน นั่นเอง
การติดตั้งเพื่อใช้ไฟเองในบ้านสามารถแบ่งออกได้หลากหลายมากๆ เลยครับ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เท่าที่พบเจอกันบ่อยๆ มีดังนี้นะครับ
(1) ต้องการลดค่าไฟฟ้าในบ้าน โดยให้แผงโซล่าร์ช่วยจ่ายกระแสไฟฟ้าในตอนกลางวัน (ตอนที่มีแดด)
(2) ต้องการใช้งานตอนไม่มีไฟ หรือไฟดับ ซึ่งต้องใช้ แบตเตอรี่ เป็นตัวช่วยกักเก็บพลังงาน
(3) ต้องการใช้กับกิจกรรมที่ไม่สะดวกที่จะใช้ไฟจากการไฟฟ้า เช่น ปั้มน้ำที่อยู่นอกบ้าน บ่อน้ำ ไฟถนน ไฟริมรั้ว กล้องวงจรปิดนอกตัวอาคาร เป็นต้น

รูปที่ 4 Solar Lighting โซล่าร์เซลล์สำหรับแสงสว่าง หลอด LED

รูปที่ 5 Solar Pump โซล่าปั้ม เครื่องสูบน้ำ

รูปที่ 6 ใช้โซล่าเซลล์ ควบคู่กับพลังลม Wind turbine

รูปที่ 7 Solar Mobile แบบเคลื่อนที่ได้ เหมาะกับใช้งานนอกสถานที่

รูปที่ 8 Solar ลดค่าไฟในโรงงาน สำหรับโรงงานที่มีค่าไฟเกิน 50,000 บาท ขึ้นไป

ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็แล้วแต่ ขอให้พึงระลึกไว้เสมอเลยนะครับว่า การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ จะต้อง “มีการใช้ไฟ ถึงจะคุ้ม” ครับ ตราบใดที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ แต่ถ้าเราไม่มีการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ เลย พลังงานที่ได้จะสูญเปล่า นอกจากจะมี “แบตเตอรี่” ไว้กักเก็บพลังงานครับ แบตเตอรี่จะต้องเป็นแบบ Deep Cycle Battery เท่านั้น ถึงจะเหมาะสมกับการเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพราะความสามารถในการจ่ายประจุได้ลึก สูงสุดถึง 75% ของความจุแบตเตอรี่ (มันถึงเรียกว่า Deep ไง) ทำให้ในแบตความจุเดียวกัน แบตเตอรี่แบบนี้จ่ายไฟได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า แต่มีข้อเสียคือ ราคาสูง และไม่เหมาะกับการ ใช้ เปิด-ปิดโหลดบ่อยๆ เช่นการสตาร์ทรถยนต์ เพราะแบตเตอรี่ชนิดนี้ มีความสามารถในการทน trigger charge ต่ำ

รูปที่ 9 Deep cycle battery แบตเตอรี่ความจุสูง

ล่าสุด (2558)  บริษัท Tesla ผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง ที่มีคุณสมบัติสำหรับเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีจุดเด่นคือสามารถชาร์จไฟอ่อน เข้าแบตเตอรี่ได้ตลอดเวลา แต่ราคาค่อนข้างสูงอยู่

รูปที่ 10 Tesla Powerwell นวตกรรมใหม่ของแบตเตอรี่

ถ้าต้องการใช้ไฟเฉพาะเวลาที่มีแดด ไม่ต้องมีแบตเตอรี่ แต่ถ้าต้องการใช้ไฟเวลาที่ไม่มีแดดด้วย จะต้องมี แบตเตอรี่ ด้วยครับ ซึ่งเรื่องแบตเตอรี่ เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันยาวๆ ไว้คราวหน้าละกันครับ ^^ ทีนี้เมื่อมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นมาดังกล่าว จึงทำให้การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ไฟเองโดยตรง จะคุ้มค่าน้อยกว่าการขายไฟให้กับการไฟฟ้า แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่น่าลงทุนนะครับ ตรงกันข้าม มันมีแนวโน้มจะคุ้มค่าไปเรื่อยๆ เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี และถือเป็นพลังงานสะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกอย่าง ถ้าเราติดตั้งเพื่อใช้ไฟไปแล้ว ในอนาคตเราอาจจะสามารถขายไฟให้การไฟฟ้าได้ ถ้ารัฐบาลเปิดสิทธิ์รอบใหม่ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก เพราะได้ยินแว่ว ๆ ว่าจะมีการเปิดเสรีโซล่ารูฟท้อปส์ ซึ่งร่างกฎหมายนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาครับ (หวังว่าจะไม่ทะเลาะกันนานเกินไปนะครับ รีบออกมาเสียที ฮาๆ) และยิ่งถ้าคุณใช้ไฟในเวลากลางวัน จำนวนมากๆ และสม่ำเสมอแล้วล่ะก็ การติดแผงโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าไม่น้อย ยิ่งตอนนี้ มีการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้ออุปกรณ์โซล่าร์เซลล์ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ 6-8%) ทำให้เราไม่ต้องลงทุนเงินก้อนโตมาก เพียงแต่แบ่งกำไรจากการประหยัดค่าไฟให้กับผู้ปล่อยสินเชื่อเท่านั้นเอง

2. ความรู้พื้นฐานสำหรับโซล่าร์เซลล์ ?

ในฐานะที่ทำงานเป็นวิศวกรไฟฟ้ามา 15 ปี ผมทราบดีครับว่าคนส่วนใหญ่มักจะส่ายหน้ากับการอธิบายในเชิงเทคนิก และมีศัพท์วิชาการมากมาย เช่น กระแสไฟ แรงดัน กำลังไฟ อะไรต่อมิอะไร เอาเป็นว่าผมขอทิ้งรายละเอียดเชิงเทคนิกไปทั้งหมดก่อน เรามาเน้นอธิบายให้ชาวบ้านฟังดีกว่าเนอะ (ถ้าอยากได้ข้อมูลเชิงเทคนิก ผมกำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับโซล่าร์เซลล์ เดี๋ยวถ้าเขียนเสร็จจะมาแชร์ให้อ่านนะครับ ^^)

ระบบไฟฟ้ากล่าวโดยสรุปแบบง่ายๆ มันประกอบด้วย ผู้ผลิตไฟ และผู้ใช้ไฟ

รูปที่ 11 หลักการง่ายๆ ของผู้ขายไฟ ผู้ซื้อไฟ และระบบกริด Grid

ผู้ผลิตไฟสามารถมีได้หลายคน โดยแต่ละคนจะช่วยกันผลิตไฟแล้วจ่ายมายังที่เดียวกัน เป็นโครงข่ายของระบบจัดจำหน่าย หรือ พาวเวอร์ กริด (Power Grid) ที่เรามักจะเรียกสั้นๆ ว่า Grid (ไม่ต้องสนใจมาก จำชื่อไว้ก็พอ ^^) เงื่อนไขของผู้ผลิตไฟก็คือ จะต้องผลิตไฟให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ในทางไฟฟ้า มันคือ แรงดัน(V) และความถี่(Hz) ผู้ผลิตไฟจะต้องผลิตไฟให้ค่าสองตัวนี้ ให้ตรงกันเสมอ ถึงจะร่วม Grid กันได้ สำหรับประเทศไทย แรงดัน และความถี่ของ Grid คือ 220โวลต์-V 50เฮิร์ต-Hz (สำหรับไฟ 1 เฟส) ทำไมต้องเป็น แรงดัน 220V ความถี่ 50Hz เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านเราต้องใช้แรงดัน และความถี่เท่านี้ไงล่ะครับ แต่ยังไงก็ดี เริ่มมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รับไฟจากโซล่าร์เซลล์ได้โดยตรง ไม่ต้องแปลงเป็นกระแสสลับ เริ่มมีวางจำหน่ายแล้วครับ เช่น หม้อหุงข้าว หลอดไฟ แอร์ ส่วนผู้ใช้ไฟก็พวกเราๆ ท่านๆ นี่แหล่ะครับ มีได้หลายคนแน่นอน และเมื่อวันหนึ่งการไฟฟ้าอนุญาติให้เราผลิตกระแสไฟฟ้าจากหลังคาบ้านเราได้ แสดงว่าเขายินยอมให้เราเป็น “ผู้ผลิตไฟ” นั่นเองครับ สำหรับพระเอกเบอร์ 1 ของเรานั่นคือ แผงโซล่าเซลล์ นั่นเอง แต่คุณสมบัติทางไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าร์เซลล์ จะเป็น 12V หรือ 24V และไม่มีความถี่ เราเรียกว่าแรงดันกระแสตรง (DC) ไม่สามารถต่อเข้ากับ Grid ของการไฟฟ้าได้โดยตรง จะต้องอาศัยอุปกรณ์ที่เรียกว่า อินเวอร์เตอร์ (Inverter) นั่นเอง

รูปที่ 11 หลักการง่ายๆ ของผู้ขายไฟ ผู้ซื้อไฟ และระบบกริด Grid

ผู้ผลิตไฟสามารถมีได้หลายคน โดยแต่ละคนจะช่วยกันผลิตไฟแล้วจ่ายมายังที่เดียวกัน เป็นโครงข่ายของระบบจัดจำหน่าย หรือ พาวเวอร์ กริด (Power Grid) ที่เรามักจะเรียกสั้นๆ ว่า Grid (ไม่ต้องสนใจมาก จำชื่อไว้ก็พอ ^^) เงื่อนไขของผู้ผลิตไฟก็คือ จะต้องผลิตไฟให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ในทางไฟฟ้า มันคือ แรงดัน(V) และความถี่(Hz) ผู้ผลิตไฟจะต้องผลิตไฟให้ค่าสองตัวนี้ ให้ตรงกันเสมอ ถึงจะร่วม Grid กันได้ สำหรับประเทศไทย แรงดัน และความถี่ของ Grid คือ 220โวลต์-V 50เฮิร์ต-Hz (สำหรับไฟ 1 เฟส) ทำไมต้องเป็น แรงดัน 220V ความถี่ 50Hz เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าบ้านเราต้องใช้แรงดัน และความถี่เท่านี้ไงล่ะครับ แต่ยังไงก็ดี เริ่มมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รับไฟจากโซล่าร์เซลล์ได้โดยตรง ไม่ต้องแปลงเป็นกระแสสลับ เริ่มมีวางจำหน่ายแล้วครับ เช่น หม้อหุงข้าว หลอดไฟ แอร์ ส่วนผู้ใช้ไฟก็พวกเราๆ ท่านๆ นี่แหล่ะครับ มีได้หลายคนแน่นอน
และเมื่อวันหนึ่งการไฟฟ้าอนุญาติให้เราผลิตกระแสไฟฟ้าจากหลังคาบ้านเราได้ แสดงว่าเขายินยอมให้เราเป็น “ผู้ผลิตไฟ” นั่นเองครับ สำหรับพระเอกเบอร์ 1 ของเรานั่นคือ แผงโซล่าเซลล์ นั่นเอง แต่คุณสมบัติทางไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซล่าร์เซลล์ จะเป็น 12V หรือ 24V และไม่มีความถี่ เราเรียกว่าแรงดันกระแสตรง (DC) ไม่สามารถต่อเข้ากับ Grid ของการไฟฟ้าได้โดยตรง จะต้องอาศัยอุปกรณ์ที่เรียกว่า อินเวอร์เตอร์ (Inverter) นั่นเอง

รูปที่ 12 แผงโซล่าร์เซลล์

พระเอกเบอร์ 2 ของเราหรือ อินเวอร์เตอร์ (Inverter) จะทำหน้าที่แปลงกระแสตรง(DC) 24V 0Hz ที่ได้จากแผงโซล่าร์เซลล มาเป็นกระแสสลับ (AC) 220V 50Hz จะได้ต่อเข้ากับ Grid ของการไฟฟ้าได้นั่นเอง

รูปที่ 13 Solar Inverter

สำหรับผู้ช่วยพระเอกอีกคน ของเราคือ แบตเตอรี่ (Battery) จะทำหน้าที่คู่กับตัวควบคุมการชาร์จ (Charge controller) เพื่อทำการสำรองไฟไว้ใช้งานยามที่แผงโซล่าร์ไม่ทำงาน โดยทำให้ประสิทธิภาพของระบบดียิ่งขึ้นเพราะถ้าไม่มี แบตเตอรี่ การใช้ไฟจะขึ้นอยู่กับปริมาณโหลดที่ถูกใช้ ณ ขณะนั้นๆ เช่นถ้าเราต่อโหลดแค่ 50% ของบ้าน แต่โซล่าร์เซลล์สามารถจ่ายได้ถึง 100% ส่วนที่เหลืออีก 50% จะไม่ได้ถูกกักเก็บ ก็จะสูญเปล่าไป แต่ถ้ามี แบตเตอรี่ ส่วนที่เหลือจากการใช้ไฟในบ้าน จะถูกจัดเก็บลง แบตเตอรี่ทั้งหมด เป็นการบริหารพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความเข้าใจมากขึ้นในการทำงาน เมื่อมีแสงแดดมาตกกระทบแผงโซล่าร์เซลล์ จะเกิดการเปลี่ยนจากพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC Current) ผ่านตัวควบคุมการชาร์จ(Charge controller) เพื่อควบคุมว่าจะปล่อยไปใช้เท่าไหร่ และจะเหลือเก็บลงแบตเตอรี่เท่าไหร่ ส่วนที่ปล่อยไปใช้งาน จะต้องผ่านอินเวอร์เตอร์ เพื่อแปลงเป็น ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Current) ก่อนนำไปใช้งานกับโหลดต่างๆ

รูปที่ 14 รูปแบบการใช้งานโซล่าเซลล์

ในวงการไฟฟ้าจะชอบแบ่งประเภทของโซล่าร์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นไปตามการต่อ Grid ซึ่งผมมองว่ามันไม่จำเป็นต้องรู้เท่าไหร่ แต่เพื่อให้ครบองค์ความรู้ จะขอกล่าวไว้ตรงนี้สักหน่อย

(1) Off grid หรือ Stand-Alone

คือระบบที่ใช้พลังงานจากโซล่าร์เซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่ต่อกับแหล่งจ่ายไฟอื่นๆ เลย เป็นระบบที่มักจะทำงานควบคู่กับแบตเตอรี่ เพื่อให้เกิดการจ่ายไฟอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ใช้งานมากที่สุดทั่วโลก เหมาะสำหรับสถานที่ ที่มีโหลดคงที่ เช่นตู้หยอดเหรียญ ไฟถนน ไฟสวน ปั้มสูบน้ำ หรือโหลดแบบเจาะจงตามบ้าน ข้อเสียคือไม่สามารถต่อโดยตรงเข้ากับไฟเมนของบ้าน ต้องออกแบบระบบให้แน่นอนก่อน เปลี่ยนแปลงโหลดได้ยากในอนาคต

รูปที่ 15 การต่อวงจรแบบ Off grid solar system

ข้อดีอย่างหนึ่งของระบบ Off grid คือสามารถทำในรูปแบบของชุดคิตสำเร็จรูปได้ง่าย (Solar Kit) ดังรูปครับ

รูปที่ 16 ชุดคิตโซล่าร์เซลล์ รูปแบบหนึ่งของ Off grid ขนาดเล็ก

(2) On grid หรือ Grid-tie
คือระบบที่ต่อกับการไฟฟ้าเพื่อขายไฟ ให้กับการไฟฟ้า เป็นระบบที่ลงทุนน้อยที่สุดและคุ้มค่ามากที่สุด แต่ต้องอาศัยนโยบาลของรัฐบาลช่วยผลักดัน ระบบนี้มีข้อจำกัดก็คือ การไฟฟ้าไม่สามารถรับไฟได้แบบไม่อั้น เพราะข้อจำกัดเรื่องขนาดหม้อแปลงของการไฟฟ้า ดังนั้นในอนาคตระบบนี้จะต้องหมดโควต้าอย่างแน่นอน ในประเทศไทย ตอนนี้มีนโยบายรับซื้อไฟ ซึ่งจะหมดเขตในเดือนมิถุนายน 2558 รีบๆ หน่อยนะครับ (ตอนเขียนบทความนี้ยังไม่หมดเขตครับ ^^)

รูปที่ 17 Ongrid solar system จะมีมิเตอร์ขาย และมิเตอร์ซื้อแยกกัน

(3) Grid-tie with power backup
หรือ Grid interactive system เหมือนระบบ On grid เพียงแต่มีแบตเตอรี่ เพื่อสามารถจ่ายไฟในช่วงเวลาไฟดับได้ด้วย หรือสามารถเซ็ตระบบ ให้สามารถจ่ายไฟได้ในกรณีที่มีไฟตก ไฟกระพริบ ระบบนี้จะแพงกว่า On grid ประมาณ 12-20%

รูปที่ 18 การต่อแบบ Grid-tie with power backup หรือ Grid interactive system

(4) Grid fallback
เป็นระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟในบ้าน ไม่ได้ทำการขายไฟให้กับการไฟฟ้า แต่ต่อเข้าโดยตรงกับไฟบ้านผ่านสวิตช์ตัดต่อ สวิตช์ตัดต่อดังกล่าวเรียกว่า Automatic transfer switch มีหลักการทำงานคือ เมื่อมีแสงแดด สวิตช์ตัวนี้ จะแบ่งโหลดส่วนหนึ่งมารับไฟจากโซล่าร์เซลล์ จนเมื่อแสงแดดหมดแบตเตอรี่จะจ่ายไฟต่อจนแบตหมด หลังจากนั้นสวิตช์จะเปลี่ยนไปใช้ไฟจากการไฟฟ้าให้อัตโนมัติ โดยโหลดไม่สะดุดเลย ระบบนี้จะเป็นระบบหลักของโลกในอนาคต เมื่อการไฟฟ้าไม่รับซื้อไฟอีกต่อไป เราจึงต้องหันมาพึ่งตัวเองครับ ^_^ (ปล.หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อระบบว่า Smart hybrid แต่จริงๆ แล้วก็คือ Grid fallback และก็มีมานานแล้วด้วยครับ ระบบนี้)

รูปที่ 19 การต่อแบบ Grid fallback ที่ให้ประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด

ก็ครบหมดแล้วทั้ง 4 รูปแบบการใช้งานโซล่าร์เซลล์สำหรับบ้าน จะมีสิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งนะครับ กันความสับสน
– ถ้าติดเพื่อขายไฟ ไม่ต้องสนใจโหลดว่าต้องใช้ไฟเท่าไหร่ ให้สนใจว่าจะลงทุนเท่าไหร่ มีพื้นที่หลังคาพอหรือไม่ (ซึ่งจะกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่ง)
– ถ้าติดเพื่อใช้ไฟเอง จะต้องมีการคำนวณโหลดที่ต้องการรับไฟจากโซล่าร์เซลล์ ให้จำนวนแผงเหมาะสมกับปริมาณโหลดที่จะใช้

3. แล้วโซล่าร์เซลล์แบบไหนเหมาะสมกับเรา ?

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอรู้แล้วล่ะครับว่าต้องการระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบไหน เดี๋ยวผมจะขอฟันธงให้ท่านอีกรอบละกัน 55 เพราะจริงๆ มันมีเพียงแค่ 2 รูปแบบเท่านั้น คือ

3.1 แบบขายไฟให้การไฟฟ้า

แบบนี้พิจารณาได้ไม่ยากเลยครับ มีแค่เงื่อนไขเดียวคือ “ท่านต้องมีสัญญาขายไฟให้การไฟฟ้า” การที่จะได้สัญญาขายไฟกับการไฟฟ้านั้น ท่านจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร แหล่งต่อไปนี้ สำหรับพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ติดตามจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ให้ดูประกาศตามลิงก์ต่อไปนี้
http://www.mea.or.th

สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัด ติดตามจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ให้ดูประกาศตามลิงก์ต่อไปนี้
https://www.pea.co.th/vspp/Pages/home.aspx

หรือติดตามข่าวสารจากบทความนี้ได้ครับ เพราะผมจะ update ข้อมูลตลอดเวลา ขอให้ดูในข้อต่อไป (ข้อที่ 4) ได้เลยครับ และจงจำไว้เสมอนะครับ “ขายไฟ” ย่อมดีกว่า “ใช้ไฟ” เสมอ เพราะ

  • ลงทุนต่ำกว่าหรือเท่ากัน เพราะไม่ต้องสำรองพลังงานในแบตเตอรี่ เท่าไหร่ก็ขายจนหมด
  • ไม่ต้องบังคับให้ใช้โหลด เพราะแม้ไม่ได้ใช้ไฟเลย แต่พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ยังคง เกิดขึ้นตลอดเวลา ตราบใดที่แสงแดดยังไม่หมดไปจากโลก (55 ^^)

3.2 แบบใช้ไฟเอง

คือการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อนำมาใช้กับโหลดโดยตรง ไม่ได้ขายให้ใคร แบบนี้สามารถทำได้เลย ไม่ต้องขออนุญาติการไฟฟ้า เพียงแต่ท่านต้องไม่ทำให้มิเตอร์การไฟฟ้าหมุนกลับทาง (เข้าใจตรงกันนะ ^^) การใช้ไฟเอง มีได้หลากหลาย ท่านลองพิจารณาว่าตรงกับข้อใดข้อหนึ่ง ต่อไปนี้หรือไม่ครับ

  • “โรงงานที่ต้องการลดค่าไฟ”
    เหมาะกับโรงงานที่มีค่าไฟตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป สำหรับโรงงานที่มีการใช้โหลดช่วงกลางวันเยอะอยู่แล้ว ถ้าใช้เงินตัวเองลงทุน จะมีการคืนทุนอยู่ประมาณ 6-7 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการดี มีกำไรต่อเนื่อง สามารถที่จะเช่าซื้อเครื่องจักร (Leasing) แทนการลงทุนเอง เท่ากับว่า “ท่านไม่ต้องควักเงินสักบาท” หรือลงทุนไม่เกิน “10%” รายละเอียดสามารถปรึกษาผู้ที่ทำธุรกิจด้านนี้ได้ครับ อย่าลืมว่าแนวทางการลดค่าไฟ สามารถทำไปพร้อมๆ กันได้หลายทาง ไม่จำเป็นต้องใช้โซล่าร์เซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น “เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟ”, “การลดความร้อนในคอมเพลสเซอร์”, “การเปลี่ยนหลอด LED”, “การติดฉนวนกันความร้อน”, “การติดอินเวอร์เตอร์โหลดที่มีความกระชากสูง เช่น แอร์ ปั้ม” เป็นต้น
  •  “ต้องการใช้ไฟเฉพาะเวลาที่มีแสงแดด”
    เหมาะสำหรับคนที่รู้ตัวอยู่แล้ว ว่ายังไงจะต้องใช้ไฟช่วงกลางวัน เช่น ปั้มสูบน้ำ ที่ทำงานเฉพาะช่วงมีแดด ก็พอเพียงในการกักเก็บน้ำ คือไม่ต้องง้อไฟจากการไฟฟ้า ให้เปลืองค่าเดินสาย ประมาณนั้น
  •  “ต้องการใช้ไฟในจุดที่เดินสายไฟไปไม่ถึง”
    เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเดินสายไฟ บางทีโหลดอาจจะอยู่ไกล เช่นในสวน ไร่นา เพราะการเดินสายไฟเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป หรือต้องการเสาไฟที่ไม่ต้องเดินสายไฟ เพื่อจ่ายโหลดกล้องวงจรปิด ไฟถนนเป็นต้น ตรงนี้ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป นะครับ
  •  “ต้องการใช้ไฟช่วงที่ไฟดับ”
    จริงๆ แล้วถือว่าเป็นหน้าที่ของแบตเตอรี่และยูพีเอสมากกว่า เพื่อการสำรองไฟ แต่แทนที่เราจะต้องเสียค่าไฟเพื่อมาสำรองไฟ เราเลือกใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน
  • “ต้องการใช้กับอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ไปมาได้บ่อย”
    ถ้าใครอยากได้ รถเข็นพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องกำเนิดพลังงานแสงอาทิตย์แบบโมบาย หรือป้ายไฟแบบเคลื่อนที่ได้ ตรงจุดนี้ถือว่าตอบโจทย์พอสมควร เพราะไม่ต้องไปหาจุดต่อปลั๊กให้เสียเวลาครับ
  • “ต้องการให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งจ่ายไฟ”
    ในกรณี เหมือนกับว่า เท่าสามารถมีแหล่งจ่ายไฟหลายแหล่ง เช่น พลังงานลม การไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และต้องการให้ทุกแหล่งกำเนิดสามารถไปจ่ายโหลดเดียวกันได้ ระบบนี้เรียกว่า Hybrid power system ซึ่งในเมืองไทยเริ่มมีคนนำเข้ามาใช้งานแล้ว จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

4. ขายไฟให้การไฟฟ้าต้องทำอย่างไรบ้าง ?

สัญญาขายไฟให้กับการไฟฟ้า อัพเดตล่าสุด เป็นดังนี้

1. สัญญาซื้อขายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม และนักลงทุน โดยสามารถทำบนพื้นดิน (Solar farm) หรือติดตั้งบนหลังคา (Solar roof) ณ ตอนนี้ ปิดรับสมัครไปแล้วนะครับ (เต็มเร็วมาก) สำหรับสิทธิ์เดิมที่ขออนุญาติไปแล้ว ให้ดำเนินการก่อนจะหมดอายุสัญญานะครับ ถ้าใครอยากทำ Solar Farm / Solar Roof เพื่อประกอบกิจการ ณ ตอนนี้คงต้องให้ไปซื้อใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า (PPA) จากโครงการกำลังก่อสร้าง หรือที่สร้างเสร็จแล้ว ที่ขายไฟฟ้าให้กับ PEA หรือ MEA  หลักฐานที่ต้องการคือ

  • สำเนาโฉนดที่ดิน หรือ แบบแปลนโรงไฟฟ้า
  • ระบุยี่ห้อ ขนาด สเป็คของแผงโซล่าร์และอินเวอเตอร์
  • ทุนจดทะเบียน
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือนของโรงงาน

เนื่องจากใบ PPA เป็นสิ่งมีค่าที่ทุกคนจับจ้อง จึงมีนายหน้าที่ชอบอ้างว่ามาจากผู้ใหญ่ให้มาเสนอซื้อ เสนอขาย เยอะมาก แต่ไม่มีหลักฐานมาแสดง นอกจากเพียงลมปากเท่านั้น เพื่อเรียกรับเงิน แต่สุดท้ายก็ว่างเปล่า เสียเวลาฟรี เพราะไม่มีอยู่จริง อ้างเจ้าของไม่ขายหรือหาเจ้าของตัวจริงไม่เจอบ้างล่ะ ถ้าท่านใดต้องการซื้อจริง ต้องพิจารณากันดีๆ นะครับ

2. สัญญาซื้อขายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือน เป็นโครงการเดียวที่เปิดสิทธิ์ให้ ณ ขณะเพื่อให้ครบ 100 เมกะวัตต์ ตามโร้ดแมปของกระทรวงพลังงานที่วางไว้ โดยต้องผ่านเงื่อนไข 4 ข้อดังนี้

  • การไฟฟ้ายอมให้ผลิตได้ไม่เกิน 10kW ต่อหลังคาเรือน และมีโควต้าต่อชุมชนด้วย ซึ่งต้องปรึกษาการไฟฟ้าที่รับผิดชอบในชุมชนของท่าน
  • มิเตอร์ไฟฟ้าต้องเป็น ประเภทที่ 1 (เพื่ออยู่อาศัย) เท่านั้น วิธีการสังเกตว่า บ้านเราเป็นมิเตอร์ประเภทที่ 1 หรือไม่ ให้ดูจากบิลค่าไฟ ที่เราได้รับทุกเดือน ดังรูปครับ
  • จะต้องมีหลังคาบ้าน หรือโครงหลังคาบ้านที่พร้อมให้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์
  • จะต้องขออนุญาติกับการไฟฟ้าใกล้บ้านท่าน ภายใน มิถุนายน 2558 และจะต้องเริ่มขายไฟเข้าระบบ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

เอกสารเพื่อประกอบการยื่นมีดังต่อไปนี้ครับ

สำหรับบุคคลธรรมดา

  1. สำเนาบัตรประชาชน (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร) ของผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้า
  2. สำเนาบิลแจ้งค่าไฟฟ้า ของอาคารที่จะติดตั้ง หรือ หลักฐานแสดงหมายเลขเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
  3. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้าเป็นเจ้าของอาคารเอง ให้แนบหลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร(พร้อมลงนามรับรองเอกสาร )
  4. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้า ไม่ได้เป็นเจ้าของอาคาร
  • ให้แนบหนังสือยินยอมจากเจ้าของอาคาร หรือ สัญญาเช่า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
  • หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
  • สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)

สำหรับนิติบุคคล

  1. สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัทฯ (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร)
  2. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคล ( ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ) พร้อมวัตถุประสงค์ให้ดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต และ จำหน่ายไฟฟ้า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
  3. หนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ผู้อื่นมายื่นคำขอแทน ( พร้อมลงนามรับรองเอกสาร , ประทับตรา และ ติดอากรแสตมป์ ) สำเนาบัตรประชาชน (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร) ของผู้ได้รับมอบอำนาจ
  4. สำเนาใบแจ้ง ค่าไฟฟ้า ของอาคารที่จะติดตั้ง แผง Solar cell หรือ หลักฐานแสดงหมายเลขเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
  5. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้าเป็นเจ้าของอาคารเอง หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)
  6. สำเนา ภพ.01 หรือ ภพ. 20 ( ถ้ามี )
  7. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้าเป็นเจ้าของอาคารเอง หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร )
  8. กรณีผู้ประสงค์จะขายไฟฟ้า ไม่ได้เป็นเจ้าของอาคาร
  9. หนังสือยินยอมจากเจ้าของอาคาร หรือ สัญญาเช่า (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา) หลักฐานในการแสดงความเป็นเจ้าของอาคาร (พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา) สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของอาคาร(พร้อมลงนามรับรองเอกสาร และ ประทับตรา)

เอกสารแสดงคุณสมบัติและข้อมูลทางเทคนิคของระบบผลิตไฟฟ้า (ทางผู้รับเหมาเป็นผู้จัดเตรียม)

  • เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของแผง Solar Cell
  • เอกสารแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของ Inverter
  • Data sheet ของหม้อแปลงที่ต่อกับ Inverter [ Rate Power ( MVA ) , HV / LV Rated Voltage ( kV ), Vector Group , Frequency , Maximum Short Circuit Rating ( kA ) ]
  • แผนผังแสดงที่ตั้งของสถานที่ติดตั้งแผง Solar Cell
  • แผนภูมิระบบไฟฟ้า ( Single Line Diagram ) แสดงการจัดวาง และ การเชื่อมต่อของอุปกรณ์ทั้งหมดและมีวิศวกรรับรองแบบ (พร้อมแนบสำเนาใบประกอบวิชาชีพที่ยังไม่หมดอายุ )

ข้อมูลประกอบการออกแบบ และการทาแผนผังสถานที่

1. ภาพถ่ายเกี่ยวกับอาคารที่จะติดตั้ง

– ภาพด้านหน้าอาคารระบุทิศ

– ภาพด้านข้าง, ด้านหลัง

– ภาพมิเตอร์ไฟฟ้าที่ซื้อ ณ ปัจจุบัน

3. แผนผังแสดงที่ตั้งอาคาร ระบุถนนใกล้เคียง

4. พิกัดดาวเทียม GPS ( ถ้ามี )

การดำเนินการทั้งหมดให้ติดต่อผู้รับเหมาที่จะติดตั้ง ให้เป็นคนดำเนินการยื่นเอกสารให้ทั้งหมด จะสะดวกมากกว่าไปยื่นเองครับผม ^^ แต่ถ้าประสงคจะยื่นเอง ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ

5. ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ของยี่ห้อไหนดี ?

หลายคนมักมาสอบถามผมว่า แผงยี่ห้อไหนดี ในวงการมีการให้เกรดของแผงไหม คำตอบคือ “มีแบบอ้อมๆ” ครับ นั่นคือ “Bloomberg PV Module Maker Tiering System” โดยจะมีการจัดเกรดของแผงโซล่าร์เซลล์เป็น 3 ระดับ ไล่ตั้งแต่ดีสุดไปด้อยสุดได้แก่
Tier-1 Solar Panel คือแผงที่สร้างจากบริษัทที่มีโรงงานของตัวเอง มีแบรนด์ของตัวเอง ไม่มีปัญหาทางการเงินในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา และมีโครงการอ้างอิง 5 โครงการขึ้นไป แผงเหล่านี้ได้แก่ (อาจมีเพิ่มเติมมากกว่านี้)

  • Phono Solar
  • Jinko Solar
  • LG Solar
  • Yingli
  • First Solar
  • REC Solar
  • Kyocera
  • Renesola
  • Trina
  • Canadian Solar
  • JA Solar
  • CNPV
  • Risen Energy
  • ET Solar
  • Solar Frontier
  • Hanwha SolarOne
  • Solarworld
  • BYD
  • SUNPOWER
  • Vikram Solar
  • Hanwha Q-Cells

Tier-2 Solar Panel คือแผงที่สร้างจากบริษัทที่มีโครงการอ้างอิงบ้าง โดยได้รับการสนับจากธนาคารบ้าง มีชื่อเสียงระดับหนึ่ง

Tier-3 Solar Panel คือแผงที่สร้างจากบริษัทที่มีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่แนะนำให้ใช้อย่างยิ่ง

6. ติดตั้งกับหลังคาได้ทุกประเภทไหม ?

หลังคาทุกประเภทสามารถติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ได้ เพราะหลังคาเป็นส่วนที่รับแรงน้อยมาก จุดรับแรงที่แท้จริงก็คือ ตัวแปหลังคาที่อยู่ภายในมากกว่า ด้วยประสบการณ์สิ่งที่ผมตรวจสอบประจำมีดังนี้

  • หลังคาอายุไม่เกิน 10 ปี มักไม่ค่อยมีปัญหา
  • หลังคาที่ต้องตรวจสอบมากๆ คือแปไม้ ครับ
รูปที่ 20 การติดตั้งภายใต้โครงสร้างไม้ เป็นสิ่งต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

– เช็คโครงสร้างภายใต้หลังคาว่าอยู่ในสภาพที่ดี โครงสร้างที่แย่ จะส่งผลต่อกระเบื้องหลังคาได้ด้วย ดังรูป

รูปที่ 21 ลักษณะหลังคาที่ต้องพึงระวัง

หลังคาเรียงกันเป็นคลื่น ไม่สม่ำเสมอ ตัวกระเบื้องแตกเป็นรอย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าโครงสร้างที่รองรับมีปัญหาครับ

  • หลังคา Metal sheet มักไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากอายุการใช้งานยังไม่เยอะ และตัวแผ่น Metal sheet ค่อนข้างเบา
  • ปกติอุปกรณ์แผงโซล่าร์ที่ติดตั้งบนหลังคา จะมีโหลดประมาณ 10kg ต่อตารางเมตร เราจะต้องมาพิจารณาแปที่รองรับว่า (1) ทำด้วยวัสดุอะไร ไม้ เหล็กกล่อง รางซี เป็นต้น (2) ขนาดแปเท่าไหร่ (3) อายุการใช้งานเท่าไหร่ (4) ชนิดแผ่นมุงหลังคา และน้ำหนักต่อตารางเมตรโดยประมาณ

หลังจากนั้นต้องปรึกษา วิศวกรโครงสร้าง เพื่อดูว่า แปหลังคาสามารถรับโหลดได้เพิ่มอีก กี่ kg/m2 นั่นแหล่ะถึงจะบอกได้ว่า สามารถติดตั้งโซล่าร์เซลล์ได้หรือไม่ครับ

ถึงเวลาติดตั้งจริงแล้ว

การติดตั้งว่ากันโดยหลักการง่าย แบ่งเป็น 3 แบบ คือ
1. แบบขั้นยึดกับจุดยึดเดิมของหลังคา (สำหรับหลังคาที่มีน๊อตยึดอยู่แล้ว)
2. แบบเจาะกระเบื้องหลังคา
3. แบบสอดใต้กระเบื้อง
แบบยึดกับจุดเดิมของหลังคา เราอาศัยจุดยึดเดิม ซึ่งเป็นน็อตอยู่แล้ว ข้อดีคือไม่ต้องทำการเจาะหลังคา และง่ายในการติดตั้ง โดยมีรูปประกอบการติดตั้ง ดังตัวอย่างข้างล่างนี้ครับ

รูปที่ 22 วิธีการยึดแผงโซล่าร์เซลล์กับจุดยึดเดิมของหลังคา

แบบเจาะกระเบื้องหลังคา ข้อดีคือมีจุดยึดที่แข็งแรง และเลือกตำแหน่งติดตั้งได้ง่าย แต่ต้องใช้กาวยิงซิลิโคนเกรด AE107

รูปที่ 23 วิธีการยึดแผงโซล่าร์เซลล์แบบเจาะกระเบื้อง

แบบสอด จะอาศัยสอดจากช่องว่างของกระเบื้องข้อดีคือไม่ต้องเจาะ หรือรื้อน็อตเดิมเลย รูปแบบการติดตั้งคร่าวๆ เป็นดังนี้ครับ

รูปที่ 24 วิธีการยึดแผงโซล่าร์เซลล์แบบสอดใต้กระเบื้อง

สรุปแล้วคือ
– ติดกับหลังคาได้ทุกประเภท มีทั้งแบบสอด แบบเจาะ และแบบยึดกับน็อตเดิม
– ดูโครงสร้างเป็นหลักว่ารับแรงได้หรือไม่
– ต้องตรวจสอบโดยวิศวกรโครงสร้างเท่านั้น ถึงจะแน่ใจว่าติดตั้งได้จริง

7. ควรรับประกันกี่ปี ?

ปกติผู้ผลิตจะมีมาตรฐานในการรับรองอยู่แล้ว ผมจะขอเอาการรับประกันสูงสุดในท้องตลาดละกันครับ ท่านจะได้มั่นใจว่า เวลาเจอกับผู้ขาย การรับประกันสูงสุด ในตลาดโซลาร์รูฟมันควรเป็นเท่าไหร่

การรับประกันผลงาน (System warranty)

ได้แก่ การเปลี่ยนอะไหล่ (Spare part) ค่าแรงในการแก้ไข และค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับบริการ จะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี (ถ้าเจอ 3 ปีนี่ถือว่าแจ๋วเลย)

การรับประกันสินค้า (Product warranty)
*** แผงโซล่าร์เซลล์ (PV Solar Panel) ตามมาตรฐานต้องเป็นดังนี้
> รับประกันคุณภาพสินค้า 10 ปี
> รับประกันประสิทธิภาพของแผง ตาม IEC Standard คือ
ประสิทธิภาพต้องลดลงไม่เกิน 10% ภายใน 10 ปีแรก
ประสิทธิภาพต้องลดลงไม่เกิน 20% ภายใน 20 ปีแรก
อายุการใช้งานของแผง ส่วนใหญ่จะอยู่ถึง 25 ปี ครับ

*** อินเวอร์เตอร์ (Solar Inverter)
> ควรมีประกันคุณภาพสินค้าเป็นเวลา 5 ปี เมื่ออยู่ในเงื่อนไขการรับประกัน เปลี่ยนใหม่ทันที ไม่มีรอซ่อม
คร่าวๆ ก็น่าจะประมาณนี้ครับผม ^^

8. หลังติดตั้งแล้วอยู่ได้นานไหม ต้องบำรุงรักษาอย่างไร ?

คำถามยอดฮิตอันหนึ่งเลยว่า เราต้องบำรุงรักษาอะไรมันบ้างไหม
คำตอบคือ ต้องมีอยู่แล้วครับ แต่จะมากบ้าง น้อยบ้างแตกต่างกันไป

หลักการทั่วไป ที่ท่านควรจะทำหลังจากติดตั้งเสร็จนะครับ
1. ตรวจสอบเอกสารในการส่งมอบงานจากผู้รับเหมา ต้องมีให้ครบ

  • Single line diagram แผนผังระบบไฟฟ้าฉบับล่าสุด
  • รายละเอียดอุปกรณ์ไฟฟ้า คู่มืออุปกรณ์ ของแผงโซล่าร์ และอินเวอร์เตอร์
    (ชาร์เจอร์ และแบตเตอรี่ ถ้ามี)
  • รายละเอียดแบบในการติดตั้ง

2. หมั่นตรวจสอบมิเตอร์ค่าไฟว่าทำงานได้ปกติ กำลังไฟฟ้า สม่ำเสมอ กิโลวัตต์ สม่ำเสมอ โดยดูจากอินเวอร์เตอร์ได้ครับ

3. ถ้าเริ่มรู้สึกว่าประสิทธิภาพของแผงเริ่มลดลง เราควรจะเพิ่มแผงเพื่อให้กำลังไฟเท่าเดิม แต่ต้องขออนุญาติจากการไฟฟ้าก่อนนะครับ

– ถ้าบ้านเรือนทั่วๆ ไป มีฝุ่นอยู่ในระดับปกติ ก็ไม่ต้องทำอะไรกับมันมาก บ้านผมอยู่มา 7 ปีแล้ว ยังไม่ได้ขึ้นไปเช็ดฝุ่น หรืออะไรเลยครับ วิธีการตรวจสอบก็ง่ายๆ ดูที่บิลค่าไฟในแต่ละเดือนว่าเทียบเดือนเดียวกันจากปีที่แล้ว ควรจะใกล้เคียงกัน แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ก็น่าจะลองขึ้นไปตรวจสอบ และทำความสะอาดบ้างครับ

– บางพื้นที่มีฝุ่นเยอะมาก เช่นโรงงานน้ำตาล จะมีกากละอองน้ำตาลปลิวมาเกาะ เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะจ้างคนมาทำความสะอาดหลังคาเป็นรอบๆ ไปครับ

การทำความสะอาด แนวทางที่ถูกต้อง

1. อ่านคู่มือของแผงโซล่าร์ให้ชัดเจน ถึงวิธีการทำความสะอาด
2. สำรวจว่าได้ทำการปิดวงจรไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว และสำรวจว่าไม่มีส่วนไหนของแผงแตก ชำรุด ข้อต่อของสายไฟถ้าหลวม ให้ทำการขันให้แน่น
3. หยิบกิ่งไม้ ใบไม้ ขยะที่ปลิวมา ออกจากแผง และตัดกิ่งไม้ที่บังแผงตามเหมาะสม
4. ทำความสะอาดด้วยผ้า หรือโฟมชุบน้ำอุ่น ผสมน้ำยาทำความสะอาดที่ไม่กัดกร่อน สูตรน้ำยาที่แนะนำคือ

– น้ำส้มสายชู 1/4 ถ้วยตวง
– สบู่หรือผงซักฟอกที่ไม่กัด 1/2 ช้อนโต๊ะ
– น้ำอุ่น 2 ถ้วยตวง

ผสมทั้งหมดในขวดสเปรย์ ใช้ฉีดเพื่อทำความสะอาดแผงครับ

9. มีการคำนวณง่ายๆ ไหม สำหรับเพื่อขาย หรือใช้ไฟในบ้านเราเอง

ผมขอรวบรวมคำถามที่ผมเจอประจำ มาลงไว้ในตารางข้างล่างนี้เลย และผมจะอัพเดตอะไรใหม่เรื่อยๆ เพราะไม่อยากไปเขียนที่อื่น 55 เอาทีเดียวใช้งานได้ และอัพเดต ดีไหมครับ ^^

ตารางการคำนวณพื้นฐาน โซล่าร์เซลล์บนหลังคา

10. สรุปแล้วมันคุ้มไหม ?

ถึงตอนนี้ผมว่าทุกคนคงได้ข้อมูลที่ได้รับไปครบถ้วน และค่อนข้างละเอียด คนที่จะตอบได้ว่าคุ้มหรือไม่ คือตัวท่านเองลองถามตัวเองดูว่า การลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องดูแลมาก ผลตอบแทนสูงสุด 20% ต่อปี เป็นเวลาสูงสุดที่ 25 ปี ลดการใช้พลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมัน ลดการใช้ถ่านหินที่เป็นมลภาวะของโลก ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ท่านลองจินตนาการดูสิครับ ว่าถ้าทุกบ้านมีแผงโซลาร์เซลล์ ติดอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังทุน ประเทศเราจะเปลี่ยนไปได้มากแค่ไหน และนั้นคือวัตถุประสงค์ของบทความนี้ครับ

  • โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหินก็จะถูกลดความสำคัญลงไป
  • น้ำมันจะนำเข้าน้อยลง
  • สิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น
  • จะมีการจ้างงานมากขึ้นในสายงานพลังงาน

ที่มา : เวบไซต์ pantip.com สมาชิกหมายเลข 2332862